http://kohkhokhao.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
หน้าแรก บทความ  ข้อมูลทั่วไป ข่าวสาร อสังหาริมทรัพย์ รวมรูปภาพ เว็บบอร์ด
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
Menu
หน้าแรก
ข้อมูลทั่วไป
ที่พัก & โรงแรม
ข่าวสาร
อสังหาริมทรัพย์
สินค้าชุมชน
ภาพจากเกาะคอเขา
แผนที่เกาะคอเขา
หนังสือพิมพ์
เว็บบอร์ด
ท่องเที่ยวเกาะคอเขา
ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวสิ่งแวดล้อม
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับที่ดิน
เรื่องเล่าจากพลเมือง
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
iGetWeb.com
เว็บสำเร็จรูป ทำเว็บ สร้างเว็บ




 

สึนามิเผยซากเรือจมยุโรป

เหตุการณ์พิบัติภัยสึนามิยังทิ้งร่องรอยความทรงจำให้ผู้คนแถบฝั่งอันดามัน ล่าสุดพบซากเรือจมพร้อมปืนใหญ่ 5 กระบอก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่ จ.พังงา

 

ซากโบราณวัตถุ
ซากโบราณวัตถุอันน้อยนิดในแหล่งเรือจมที่เหลือจากการงมของชาวบ้าน

 



ข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งบนหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น จ.พังงา เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ระบุว่าชาวบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ได้พบเรือโบราณลำหนึ่งจมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ในพื้นที่บ้านบางสัก ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า โดยชาวบ้านได้พบปืนโบราณจำนวน 5 กระบอก รวมถึงเศษเครื่องใช้ต่างๆ และได้นำโบราณวัตถุเหล่านั้นขึ้นจากแหล่งแล้ว ทางจังหวัดจึงได้ประสานไปยังกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากสำนักโบราณคดีเข้าตรวจสอบ

กลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักทราบความแล้ว จึงรุดมาสำรวจและขุดค้นเรือโบราณดังกล่าว เมื่อวันที่ 5-13 มกราคม ที่ผ่านมา โดยเรียกชื่อแหล่งเรือจมแห่งล่าสุดนี้ว่า 'แหล่งเรือจมบ้านบางสัก'

 

ปืนใหญ่
ปืนใหญ่ 5 กระบอก ที่ชาวบ้านนำขึ้นมาล่วงหน้า ปัจจุบันกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำรับมอบไปอนุรักษ์ต่อแล้ว

 



ของฝากจากคลื่นยักษ์

การดำเนินงานทางโบราณคดีที่แหล่งเรือจมบ้านบางสักให้ข้อมูลทางวิชาการที่สามารถเชื่อมต่อกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสยามกับประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งเรือจมลำแรกที่พบว่ามีลักษณะการต่อเรือแบบยุโรป หรือเป็นเรือสำเภาโบราณที่เดินทางมาจากซีกโลกตะวันตกนั่นเอง

แหล่งเรือจมบ้านบางสักถูกพบอยู่ใกล้ชายฝั่งห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ความลึกเพียง 5 เมตร กล่าวกันว่าเพิ่งถูกพบเพราะผลพวงจากคลื่นยักษ์สึนามิที่เปิดหน้าทรายขึ้นจนเห็นซากเรือ

เอิบเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดี 8 ว. หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร บอกเล่าว่าในอดีตนั้นมีการเดินเรือสินค้าระหว่างซีกโลกตะวันตกกับซีกโลกตะวันออกโดยใช้เส้นทางนี้มานานแล้ว ดังรู้จักในนาม 'เส้นทางเครื่องเทศ' เริ่มตั้งแต่สมัยอาณาจักโรมัน

"เท่าที่ทราบยังไม่มีการทำบันทึกการเดินเรือไว้เท่าที่ควร พอที่จะเป็นหลักฐานอ้างอิงทางการศึกษา นอกเหนือจากภาพเขียนสีต่างๆ ซึ่งก็บอกอะไรที่ละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเดินเรือทะเลในอดีตได้ไม่มากนัก อีกประการคือทางแถบมหาสมุทรอินเดียหรือทะเลอันดามันนั้น ยังไม่เคยมีการพบเรือที่จมอยู่ในลักษณะนี้และมีการตรวจสอบอย่างจริงจังมาก่อน ลำนี้อาจบอกได้ว่าเป็นลำที่ 2 ของแถบมหาสมุทรอินเดียที่ล่มลง และมีการค้นพบ เรือลำแรกเป็นเรืออาหรับน่าจะเก่าแก่ที่สุดที่เคยพบที่ อ.กันตัง จ.ตรัง แต่ลำนี้เป็นลำแรกที่เป็นเรือยุโรป"

อย่างไรก็ตาม การขุดค้นทางโบราณคดีใต้น้ำส่วนใหญ่ดำเนินการทางทะเลฝั่งตะวันออกหรืออ่าวไทย ซึ่งพบเรือสำเภาโบราณจมลงมากกว่า 50 ลำ

 

ภาพสเกตช์
ภาพสเกตช์สภาพเรือที่แหล่งเรือจมบ้านบางสัก จ.พังงา

 



เอิบเปรม เล่าด้วยว่าเรือสินค้าโบราณที่พบนั้นเป็นเรือแบบจีนเป็นส่วนใหญ่ เพราะในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีการค้าขายกับจีนสูงมาก การขนส่งหลักใช้เส้นทางเรือผ่านอ่าวไทย

"ในสมัยอยุธยาตอนต้นนั้น ปากทางเข้ากรุงศรีอยุธยาจะเป็นสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา คือทางฟากซ้ายหรือว่ากรมท่าซ้าย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่หรือเสนาบดี ตรวจสอบหรือว่าจัดเก็บรายได้จากเรือสินค้าที่เดินทางผ่านทะเลอ่าวไทยเข้ามา ส่วนทางฟากขวาหรือเรียกว่ากรมท่าขวา จะทำหน้าที่เหมือนกับกรมท่าซ้าย คอยตรวจสอบเรือสินค้าทางฝั่งอันดามัน ประเด็นคือเสนาบดีประจำกรมทั้งสองนี้ต้องสามารถสื่อสารได้กับคู่ค้า คือกรมท่าซ้ายก็ต้องมีความเข้าใจภาษาจีนเป็นอย่างดี และกรมท่าขวานั้นก็มีคนเข้าใจภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับเป็นอย่างดี"

นักโบราณคดีคนเดิมอธิบายว่าส่วนใหญ่แล้ว ทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยามักแต่งตั้งตัวแทนพ่อค้าคนสำคัญของชาตินั้นๆ คอยดูแล เพราะจะมีความชำนาญเรื่องภาษา แต่การค้าขายส่วนใหญ่เป็นการค้ากับประเทศทางซีกโลกตะวันออก จึงพบเรือสำเภาที่ล่มในทะเลทางอ่าวไทยมากกว่า อีกทั้งทะเลฝั่งอันดามันมีคลื่นลมแรงและลึกกว่าทางอ่าวไทย ดังนั้นเรือโบราณที่จมลงจะถูกคลื่นพัดตะกอนดินทรายมาทับถมจนไม่สามารถค้นพบได้

"ลำที่พบนี้เป็นไปได้ว่าเป็นเพราะคลื่นยักษ์สึนามิที่พัดถล่มชายฝั่งเมื่อปลายปี 2547 เปิดดินทรายออกมาจากการทับถม จนมีการพบเห็นตัวเรือ ความจริงน่าจะมีเรือสินค้าในอดีตอีกจำนวนไม่น้อยที่จมบนเส้นทางนี้"

 

หมุดโลหะ
หมุดโลหะ โบราณวัตถุประเภทหนึ่งที่บ่งบอกลักษณะการต่อเรือ

 



เรือจมยุโรปลำแรก

ผลการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งเรือจมบ้านบางสักให้ข้อมูลว่า เรือดังกล่าวเป็นเรือสำเภาไม้มีความยาว 13.50 เมตร กว้าง 5 เมตร ซากเรือที่พบเหลือประมาณ 60% ของตัวเรือทั้งหมด จากร่องรอยกราบเรือที่ปรากฏบ่งชี้ว่าความยาวเต็มลำเรืออาจถึง 20 เมตร

ข้อน่าสังเกตก็คือไม้ส่วนประกอบของลำเรือนั้นเป็นเนื้อไม้หลาโอน (ไม้เนื้อแข็งตระกูลปาล์ม ส่วนใหญ่พบตามพื้นภูมิประเทศที่พบเรือจมอยู่ และหมู่บ้านบางหลาโอนก็อยู่ห่างจากแหล่งเรือจมเพียง 15 กิโลเมตร) นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าน่าจะมีการซ่อมแซมเรือด้วยไม้พื้นเมือง

"คงต้องไปพิสูจน์ว่าไม้นี้เกี่ยวข้องกับการต่อเรือครั้งแรกของเรือลำนี้หรือไม่ ซึ่งตามรูปแบบการต่อแล้ว เรือลำนี้ต่อขึ้นด้วยฝีมือของช่างทางแถบยุโรป บอกได้ว่าเป็นเรือสินค้าของชาวฝรั่ง ไม่ใช่ชาวจีนหรือสำเภาจีนอย่างที่เข้าใจกันในช่วงแรกที่พบ ลักษณะการต่อเรือแบบจีนนั้น เท่าที่พบพอวางกระดูกงูแล้วจะมีการวางกงใต้กระดูกงู แล้วจึงเอาไม้กระดานมาปิดทับด้านล่างของกงเพียงด้านเดียว ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในสมัยนั้น ลักษณะลำเรือตรงกลางจะป่องออก อุ้ยอ้าย ไม่ประเปรียว สู้คลื่นไม่ดีนัก แต่บรรทุกได้มาก"

หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำแยกแยะให้เห็นว่าการต่อเรือแบบยุโรปนั้น เมื่อวางกระดูกงูแล้วจะมีการวางกงเรือ โดยจะบากเนื้อไม้กงเรือเข้าไปประกบกับกระดูกงูอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงใช้หมุดโลหะตอกย้ำลงไป คาดว่าน่าจะเป็นการเพิ่มความคงทน จากนั้นจึงใช้ไม้กระดานมาปิดทั้งด้านบนและด้านล่างของกงเป็นพื้นเรือ เพื่อความแข็งแรงของตัวเรืออีกครั้งหนึ่ง เป็นลักษณะเรือที่ประเปรียว เพราะต้องเดินทางยาวนานและเผชิญคลื่นลมแรง

"เพราะฉะนั้นการออกแบบเรือเดินทะเลในแถบนี้ต้องให้มีลักษณะสู้คลื่นเข้าไว้ ส่วนการต่อเรือแบบอาหรับนั้นก็เป็นอีกแบบหนึ่ง คือตัวอย่างที่ชาวบ้านพบในเขต ต.โคกยาง อ.กันตัง จ.ตรัง นั้นเป็นการวางกระดูกงูแล้วเอากงเข้าไปประกบกับกระดูกงูแบบทั่วไป แต่จะแปลกตรงที่การใช้ไม้กระดานพื้นเรือวางร้อยเข้าด้วยกันตามความโค้งของกงเรือ จากนั้นก็ใช้สลักเย็บอีกครั้งหนึ่ง ส่วนปลายสลักจะผูกด้วยป่านมนิลา แล้วขันชะเนาะเข้าด้วยกัน ปลายเชือกป่านมนิลาที่เหลือยาวไว้สำหรับแซมเสริมระหว่างแผ่นไม้ กันน้ำรั่วหรือซึมเข้าตัวเรือ" เอิบเปรม กล่าว

 

โบราณคดี
ทีมนักสำรวจโบราณคดีใต้น้ำขณะกินข้าวหลังจากกลับเข้าฝั่ง

 



เส้นทางสายไหมภาคทะเล

ข้อมูลการค้นพบเรือจมจากยุโรปช่วยต่อเติมภาพประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเส้นทางสายไหม ซึ่งมีทั้งเส้นทางบนบก และเส้นทางทางทะเล

เอิบเปรมฉายภาพอดีตช่วงนี้ว่า

"เส้นทางการค้าขายในอดีตนั้นนอกจากจะมีเส้นทางสายไหมทางบกแล้ว ก็มีเส้นทางสายไหมทางทะเลด้วย เส้นทางการค้าบนบกจากยุโรปกับเอเชียนั้นจะต้องผ่านทางอาหรับ พอมายุคหนึ่งชาวอาหรับมีอำนาจขึ้นก็เป็นอุปสรรคในการเดินทางเคลื่อนสินค้าผ่าน เพราะเมื่อเจ้าถิ่นเรืองอำนาจทำให้เกิดการเก็บค่าผ่านทาง การปล้นสะดมสินค้า การแย่งชิงต่างๆ หรือแม้กระทั่งผ่านประเทศที่มีภาวะศึกสงคราม พ่อค้าชาวยุโรปส่วนหนึ่งจึงได้ออกค้นหาเส้นทางที่จะลำเลียงสินค้าทางน้ำจากยุโรปมาทางฟากเอเชียแทน"

การสำรวจทางทะเลของชาวยุโรปนำไปสู่การค้นพบดินแดนหรือเกาะแก่งใหม่ๆ บางเกาะใช้เป็นที่หลบลมมรสุม บางเกาะกลายเป็นที่พักสินค้า นานเข้าจึงยกสถานะเป็นเมืองท่าต่างๆ

"ร่องรอยที่มีการค้นพบในแถบนี้ ได้แก่ เมืองทุ่งตึก ในพื้นที่ ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา อยู่ห่างจากจุดที่พบเรือจมลำนี้ไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร เท่านั้นเอง ก็เป็นข้อสันนิษฐานได้ว่าเรือสินค้าลำนี้อาจจะเพิ่งออกจากเมืองท่าทุ่งตึก เพื่อเดินทางไปทางตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งหน้าไปยังเมืองท่าต่างๆ ในประเทศมาเลเซีย"

นักโบราณคดีใต้น้ำคนเดียวกันแจกแจงว่าในอดีตเมืองปีนังเป็นหัวเมืองขนาดใหญ่ อาจเป็นไปได้ว่าเรือลำดังกล่าวแล่นผ่านช่องแคบมะละกา มุ่งสู่กรุงศรีอยุธยา หรือไม่ก็อาจแล่นกลับจากกรุงศรีอยุธยา ผ่านเมืองปีนังมุ่งหน้าไปยังยุโรป ทั้งนี้ต้องผ่านเส้นทางดังกล่าว ซึ่งอาจมีการกำหนดว่าจะต้องแวะพักหลบมรสุม หรือแวะถ่ายเทสินค้าเข้าและออกที่เมืองทุ่งตึกก่อน สินค้าสำคัญในสมัยนั้น ได้แก่ ของป่าและหนังสัตว์ ตลอดจนถึงเครื่องเทศต่างๆ

ทว่าก่อนเข้าเทียบท่าหรือเพิ่งล่องออกจากท่าไม่นาน เรือลำดังกล่าวได้เผชิญคลื่นลมแรงจนอับปางลงในที่สุด

ทุกวันนี้ เมืองทุ่งตึกยังปรากฏร่องรอยของเมืองโบราณที่บ่งบอกความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นเมืองท่าในอดีตอย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่มีการขุดค้นพบลูกปัดสีต่างๆ หลากที่มา บ่งบอกว่าน่าจะเป็นหนึ่งในเส้นทางข้ามคาบสมุทรเชื่อมจากทะเลตะวันตกผ่านเส้นทางบกระยะสั้นๆ ไปทะลุทางจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน โดยผ่านเทือกเขาสกลงไป แล้วไปลงเรืออีกต่อหนึ่งออกไปยังอ่าวไทย แทนการเสียเวลาแล่นเรืออ้อมช่องแคบมะละกา

ในส่วนการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีใต้น้ำนั้น โดยทั่วไปควรต้องมีเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการค้นหา เช่น เครื่องไซด์ สแกน โซน่าร์ สำหรับตรวจความลึกของน้ำ และเครื่องมือตรวจจับโลหะ เป็นต้น แต่ปัจจุบันกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำเมืองไทยยังไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว การทำงานจึงต้องอาศัยการวางแผนที่รัดกุมในการกำหนดตำแหน่งสำรวจ และส่งนักสำรวจลงดำน้ำเพียงสถานเดียว

"การทำงานครั้งนี้ผมเรียกว่ามาพิสูจน์หรือตรวจมากกว่ามาสำรวจ เพราะชาวบ้านที่พบเรือจมเป็นคนบอกตำแหน่งเรืออยู่แล้ว ไม่ได้สำรวจเอง"

เกี่ยวกับโบราณวัตถุที่พบนั้น นอกจากซากเรือแล้ว ยังมีหมุดโลหะที่ใช้ในการต่อเรือ ส่วนปืน 5 กระบอก และเครื่องภาชนะดินเผาชิ้นสมบูรณ์นั้นถูกชาวบ้านงมหาไปก่อนหน้านี้แล้ว เหลือเพียงเศษกระเบื้องเคลือบลายครามและเศษเครื่องปั้นดินเผามีลวดลายปรากฏอยู่ประปราย นักโบราณคดีระบุว่าลวดลายเท่าที่ปรากฏใกล้เคียงกับเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย ซึ่งจะต้องนำไปเปรียบเทียบกับเครื่องใช้ที่เคยค้นพบจากแหล่งเรือจมอื่นๆ ก่อนจึงจะวิเคราะห์ได้ว่าเป็นเครื่องใช้ของชนชาติใด หรือมีอายุในสมัยใด

"ต้องบอกว่าเรายังไม่พบว่าสินค้าของเรือลำนี้มีอะไรบ้าง เพราะไม่พบโบราณวัตถุอะไรที่บอกได้แน่ชัดว่าเป็นสินค้า ส่วนปืนที่ชาวบ้านนำขึ้นไปก่อนนั้น เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นปืนประจำเรือสินค้า ป้องกันโจรสลัด หรือใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น จะไปตามเมืองท่าต่างๆ ก็อาจยิงสลุตเพื่อแสดงความยินดีหรือเฉลิมฉลองต่างๆ ดูลักษณะปืนที่พบเป็นปืนขนาดเล็ก"

เอิบเปรมกล่าวทิ้งท้ายว่าหากนำปืนดังกล่าวไปดำเนินการตรวจสอบโดยขจัดซากหอยเพรียงที่เกาะออกอาจพบลวดลายบนกระบอกปืน เพื่อนำไปเปรียบเทียบรูปแบบกับปืนของชาติต่างๆ ได้ และยังอาจบอกอายุได้ด้วย

ส่วนแนวทางการอนุรักษ์แหล่งเรือจมบ้านบางสักนั้นขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานท้องถิ่นจะจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินการต่อไปได้เพียงใด


บัญญัติ ชูเลิศ

 ที่มา : http://campus.sanook.com/u_life/knowledge_03488.php

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

 
view