http://kohkhokhao.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
หน้าแรก บทความ  ข้อมูลทั่วไป ข่าวสาร อสังหาริมทรัพย์ รวมรูปภาพ เว็บบอร์ด
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
Menu
หน้าแรก
ข้อมูลทั่วไป
ที่พัก & โรงแรม
ข่าวสาร
อสังหาริมทรัพย์
สินค้าชุมชน
ภาพจากเกาะคอเขา
แผนที่เกาะคอเขา
หนังสือพิมพ์
เว็บบอร์ด
ท่องเที่ยวเกาะคอเขา
ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวสิ่งแวดล้อม
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับที่ดิน
เรื่องเล่าจากพลเมือง
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
iGetWeb.com
เว็บสำเร็จรูป ทำเว็บ สร้างเว็บ




 

2010 "เฮือกสุดท้าย" ก่อนสูญสิ้นความหลากหลายทางชีวภาพ

  

 "เสือ" อาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้รับความสนใจและถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดในปีขาล เพราะจำนวนประชากรเสือที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดจนน่าตกใจและน่าห่วงใยว่าจะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า ทว่าในธรรมชาติยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายเผ่าพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไม่น้อยไปกว่าสัตว์ป่าผู้ล่าอันดับสูงสุดของปิรามิดอาหาร
       
       เพราะความล้มเหลวในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพให้ได้ภายในปี 2010 ตามปฏิญญาที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ให้ไว้เมื่อปี 2002 ทำให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต้องประกาศให้ปีนี้เป็น "ปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ" (International Year of Biodiversity) เพื่อปลุกให้คนทั่วโลกตื่นตัวต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และลดอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตก่อนที่จะเกินเยียวยา
       
       รู้จัก "ความหลากหลายทางชีวภาพ"
       
       ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (Biodiversity Research and Training Program- BRT) หรือ โครงการบีอาร์ที อธิบายว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เป็นคำใหม่ที่นำมาใช้ทางวิชาการอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อปลายปี 1989 (พ.ศ.2532) ซึ่งหมายถึง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ จุลินทรีย์ที่ต่างก็มีความหลากหลายในทุกระดับนับตั้งแต่ยีนหรือพันธุกรรม (ดีเอ็นเอหรืออาร์เอ็นเอ) ถึงระดับความหลากหลายของชนิดหรือสปีชีส์ที่มีความเชื่อมโยงกันเป็นสายใยในระบบนิเวศที่หลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก และกระจายตัวอยู่ทั่วไปบนโลก แต่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ป่าเขตร้อนที่มีพื้นที่รวมกันเพียง 7%ของผืนแผ่นดินบนโลก แต่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากอย่างเด่นชัด มีรูปแบบของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายมากถึง 90%
       
       ประเทศไทยอยู่ในชัยภูมิที่อุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของโลก มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้สรรพชีวิตกำเนิด อยู่อาศัย และแพร่กระจายพันธุ์ ซึ่งประมาณได้ว่าในประเทศไทยมีความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิตราว 10% ของโลก มีพันธุ์พืชมากกว่า 15,000 ชนิด มีนกกว่า 930 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 300 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานอีกว่า 300 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่า 110 ชนิด และปลาอีกกว่า 1,400 ชนิด ทว่า ความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิตเหล่านี้กำลังถูกรุกรานจากเพื่อนร่วมโลก คือ มนุษย์
       
       "มนุษย์" ต้นเหตุแห่งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
       
       "ประเทศไทยเคยมีพื้นที่ป่าประมาณ 70% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่ถึง 30% สัตว์ป่าที่เคยมีอย่างอุดมสมบูรณ์ ก็ลดจำนวนลงอย่างมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม" ศ.ดร.วิสุทธิ์ เผยถึงสถานการณ์ในประเทศไทยที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
       
       ผู้อำนวยการโครงการบีอาร์ทีบอกว่า การพัฒนาประเทศอย่างไม่ยั่งยืนตามแบบทุนนิยมตะวันตก เป็นเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนจนกับคนรวย และก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากการบุกรุกทำลายป่าและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนัก ทั้งทรัพยากรชีวภาพ ถ่านหิน น้ำมัน และแร่ธาตุ จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศตามมาอย่างต่อเนื่องและเกิดภัยพิบัติรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศเสียสมดุล และเป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตจำนวนมากต้องสูญพันธุ์ไปในช่วงเวลาแค่ไม่กี่สิบปี
       
       "หลายชีวิต" เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
       
       "ปัจจุบันมีเสือเหลืออยู่ในประเทศไทยเพียงไม่ถึง 100 ตัว ซึ่งจัดอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง เช่นเดียวกับช้าง พะยูน และโลมา ซึ่งมีจำนวนประชากรลดน้อยลงทุกขณะ ส่วนพืชที่หายากและจัดว่ามีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ก็มีหลายชนิด เช่น กันภัยมหิดล ถั่วแปบช้าง และเฟิร์นข้าหลวงหลังขาว เป็นต้น" ผู้อำนวยโครงการบีอาร์ทีแจกแจง
       
       ทั้งนี้ จากรายงาน Living Planet Report 2006 ของดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ (World Wild Fund for Nature: WWF) ที่ทำการสำรวจสถานการณ์ของสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยในช่วงปี 1970-2003 พบว่า มีชนิดและสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนบกสูญพันธุ์ไปแล้วประมาณ 31% สัตว์น้ำจืดที่สูญพันธุ์ไปไม่น้อยกว่า 28% และสัตว์ทะเลที่สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 27%
       
       สำหรับในประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ทำการศึกษา สำรวจสถานภาพและถิ่นที่อยู่อาศัย รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลของชนิดพันธุ์หายาก ใกล้สูญพันธุ์ และชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2004 โดยครอบคลุมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา พบว่ามีอยู่ทั้งสิ้น 4,591 ชนิด ในจำนวนนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว 6 ชนิด สูญพันธุ์ในธรรมชาติแล้ว 7 ชนิด และอีก 84 ชนิด ในจำนวนกว่า 500 ชนิด ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม จัดเป็นชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
       
       ในปี 2005 สผ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการศึกษาสำรวจ วิเคราะห์สถานภาพพรรณพืชที่พบในประเทศไทย และรวบรวมรายชื่อพืชถิ่นเดียว พืชหายาก พืชมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และพืชใกล้สูญพันธุ์ของประเทศ ได้จำนวน 1,410 ชนิด ใน 137 วงศ์ ได้แก่ เฟิร์น พืชเมล็ดเปลือย พืชใบเลี้ยงเดี่ยว และพืชใบเลี้ยงคู่ พบว่ามี 20 ชนิด ที่อยู่ในสถานะ "ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง" ส่วนชนิดพันธุ์พืชที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปจากถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติแล้ว มี 2 ชนิด คือ ฟ้ามุ่ยน้อย (Vanda coerulescens Griff.) และโศกระย้า (Amherstia nobilis Wall.)
       
       "ผืนป่ามรดกโลก" อนุรักษ์ไว้คล้ายยันต์กันผี
       
       แม้ว่าประเทศไทยจะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีอีกหลายส่วนที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ได้เป็นอย่างดี เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
       
       "ผืนป่ามรดกโลกเป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีคุณค่า แต่การได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกก็เหมือนเป็นแค่ยันต์กันผี กันไม่ให้ถูกทำลายลงไปมากกว่านี้ แต่ถ้าหากเราไม่มีมาตรการการอนุรักษ์อย่างจริงจัง ดูแลไม่ทั่วถึงและไม่ดีพอ และปล่อยให้เสื่อมโทรมลง ก็มีสิทธิ์ถูกถอดออกจากการเป็นมรดกโลกได้เหมือนกัน อย่างกรณีที่มีโครงการตัดถนนผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ - ปางสีดา หากไม่พิจารณาให้รอบคอบถึงผลดีผลเสีย ก็อาจจะทำให้เขาใหญ่พ้นสภาพจากการเป็นมรดกโลกได้" ศ.ดร.วิสุทธิ์ เผย
       
       "เฮือกสุดท้าย" ก่อนสูญสิ้นความหลากหลายทางชีวภาพ
       
       ศ.ดร.วิสุทธิ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร เนื่องจากเรายังไม่รู้จักความหลากหลายทางชีวภาพดีพอ เราไม่รู้ว่าบ้านเรามีอะไรบ้าง และมีมากน้อยเพียงใด เราจึงไม่รู้ว่าเราสูญเสียอะไรไปบ้างแล้ว ยังมีพืช สัตว์ จุลินทรีย์อยู่อีกจำนวนมากที่เรายังไม่รู้จัก ยังไม่มีการค้นพบ
       
       ศ.ดร.วิสุทธิ์ ผู้ก่อตั้งโครงการบีอาร์ทีและพยายามผลักดันการศึกษาวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยมานานถึง 15 ปี กล่าวอีกว่า เราจึงต้องมีการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพให้มากพอก่อน แล้วจึงกำหนดนโยบายและมาตรการการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและจริงจัง แต่ที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายและมาตรการฯ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการ มันจึงทำอะไรไม่ได้มากนักอย่างที่ทุกคนอยากเห็น
       
       "การที่ยูเอ็นกำหนดให้ปีนี้เป็นปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ เหมือนบอกให้รู้ว่านี่เป็น "เฮือกสุดท้าย" ที่เราจะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกไว้ได้" คำบอกกล่าวของ ศ.ดร.วิสุทธิ์ ที่ดูไม่ผิดแผกไปจากที่ ศ.บ็อบ วัตสัน (Prof. Bob Watson) อดีตประธานคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ไอพีซีซี (IPCC) เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า เราอยู่ในสถานการณ์อันตรายที่เข้าใกล้ "จุดพลิกผันที่มิอาจหวนคืน" (point of no return) มากเข้าไปทุกที

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 26 กุมภาพันธ์ 2553 10:12 น.


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

 
view