http://kohkhokhao.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
หน้าแรก บทความ  ข้อมูลทั่วไป ข่าวสาร อสังหาริมทรัพย์ รวมรูปภาพ เว็บบอร์ด
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
Menu
หน้าแรก
ข้อมูลทั่วไป
ที่พัก & โรงแรม
ข่าวสาร
อสังหาริมทรัพย์
สินค้าชุมชน
ภาพจากเกาะคอเขา
แผนที่เกาะคอเขา
หนังสือพิมพ์
เว็บบอร์ด
ท่องเที่ยวเกาะคอเขา
ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวสิ่งแวดล้อม
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับที่ดิน
เรื่องเล่าจากพลเมือง
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
iGetWeb.com
เว็บสำเร็จรูป ทำเว็บ สร้างเว็บ




 

รื้อ-รับ เขตเศรษฐกิจพิเศษ



เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือการกำหนดพื้นที่เฉพาะโดยมีเป้าหมายการกระตุ้น ดึงดูดนักลงทุนให้มากที่สุด อันมีเป้าหมายคือการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การได้รับสิทธิพิเศษด้านต่างๆ ที่เอื้อต่อการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพิเศษทางภาษีอากร การส่งเสริมการลงทุน ความพร้อมของปัจจัยการผลิต การอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกรรมและบริการพื้นฐานต่างๆ ตั้งแต่ระบบขนส่ง ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ ที่สำคัญเขตเศรษฐกิจพิเศษมิได้จำกัดเฉพาะประเภทของเขตประกอบการอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่จะครอบคลุมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษทางการค้า บริการ การท่องเที่ยว หรือการเกษตร

 

สภาพเศรษฐกิจและการเตรียมตัวเป็นประเทศอาเซียน ทำให้เกิดโครงการใหญ่ๆ ผุดขึ้นตามมาไม่รู้จบ จนรัฐบาลหมายตาหลายพื้นที่เพื่อจัดตั้งเป็นเศรษฐกิจพิเศษ เช่น มุกดาหาร กาญจนบุรี หรือทวายที่กำลังเตรียมความพร้อมอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ การที่จะพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ใดเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ  มีองค์ประกอบที่สำคัญหลายปัจจัย ที่สำคัญที่สุดคือทำเลที่เอื้อต่อระบบโลจิสติกส์ ที่สามารถเชื่อมโยงวัตถุดิบกับพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่นๆ ในลักษณะของการเกื้อหนุนกันและกันได้ ประการต่อมาคือความพร้อมของปัจจัยการผลิต  ได้แก่  ทุน  วัตถุดิบ  แรงงาน  โครงสร้างพื้นฐาน  และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยเฉพาะคำว่า “ทุน” จะเกี่ยวโยงถึงความสามารถในการสร้างความน่าเชื่อถือและเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะมาลงทุนในเขตนั้นๆ ว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่
ส่วนปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ คือ การสนับสนุนจากภาครัฐ  โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎระเบียบและนโยบายภาษีที่เอื้อประโยชน์และช่วยลดต้นทุนสินค้าที่จะส่งออกให้สามารถสู้กับตลาดโลกได้  และการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ  เช่น สิทธิพิเศษด้านการลงทุน  ,ระบบศุลกากร การส่งออก   หรือศูนย์ One Stop Services  ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ  สั่งการ  และอนุมัติแผนการดำเนินงานได้  เป็นต้น

  พรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษฯยังถูกดอง

 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา และพยายามผลักดันให้ร่างดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร แต่ได้รับการต่อต้านจากภาคประชาชนอย่างรุนแรง เนื่องจากเห็นว่าเห็นความเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และเป็นการออกกฎหมายเพื่อสนองนายทุนต่างชาติ จนทำให้ต้องชะลอจนถึงปัจจุบัน

 ทั้งนี้ กรอบแนวคิดในการยกร่าง พรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือการสร้างกฎหมายกลางขึ้น ที่แยกองค์กรกำหนดนโยบายเขตพิเศษออกจากองค์กรบริหารจัดการเขตพิเศษ องค์กรบริหารฯ จะมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ สามารถให้บริการอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สามารถครอบคลุมกิจกรรมต่าง ๆ ได้หลากหลาย มีการวางแผนเรื่องระบบสาธารณูปโภค การวางผังเมืองที่สอดคล้องกับพื้นที่ ตลอดจนการกำหนดสิทธิพิเศษแก่ผู้อยู่อาศัย และผู้ประกอบการ ทั้งนี้การดำเนินการของเขตพิเศษต้องสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน  และส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 ในส่วนความคืบหน้าล่าสุดการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เองได้ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) หยุดการพิจารณาร่าง พรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.... (วาระ 3) ชั่วคราว เนื่องจาก คณะผู้บริหาร กนอ.มีความเห็นว่า ร่างดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะได้มีการปรับเปลี่ยนอาณาเขต พื้นที่จากการที่เขตเศรษฐกิจพิเศษครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบล หรืออำเภอ หรือจังหวัด มาเป็นพื้นที่ล้อมรั้ว และต้องจัดหาพื้นที่เอง ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษก็จะเป็นเพียงแค่มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ภายในเท่านั้น

 กนอ.ยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ในความจริงแล้ว นิคมอุตสาหกรรมเป็นเพียงแค่หนึ่งองค์ประกอบในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น จึงต้องการให้เขตเศรษฐกิจพิเศษคลุมพื้นที่ทั้งตำบล หรืออำเภอ หรือจังหวัด แล้วแต่กรณี

 เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดเชียงราย

 

    จุดเริ่มจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  19  มีนาคม  2545  ได้เห็นชอบให้มีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในพื้นที่นำร่อง  3  พื้นที่ก่อน  ได้แก่  ที่อำเภอแม่สาย  อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย  และอำเภอสะเดา  จังหวัดสงขลา เนื่องจากเห็นว่า พื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน  เพื่อนำไปสู่การเป็นประตูการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

 สำหรับเชียงราย เป็นประตูเศรษฐกิจที่สำคัญ จะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการผลิต  การค้า  การลงทุน  และการคมนาคมขนส่งของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  โดยกำหนดบทบาทเมืองชายแดนแต่ละเมือง ดังนี้

  • แม่สาย เป็นศูนย์กลางการค้า บริการ และการท่องเที่ยว และเป็นประตูเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
  • เชียงแสน เป็นประตูการค้าเชื่อมกับจีนตามแนวลำน้ำโขง และเป็นศูนย์กลางเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  • เชียงของ เป็นพื้นที่อยู่ในเส้นทางถนนเชื่อมไปจีนโดยผ่าน สปป.ลาว

 กระทั่ง เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์  2549 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขต ต.ศรีดอนชัยและ ต.สถาน อ.เชียงของ ในเนื้อที่ประมาณ 16,000 ไร่ บริเวณทุ่งสามหมอน  ต่อมาได้ปรับพื้นที่คงเหลือ นิคมอุตสาหกรรม  จำนวน  6,250 ไร่    ซึ่งอ้างกันว่า หากสามารถดึงการลงทุนจากประเทศจีนมายังนิคมอุตสาหกรรมที่ อ.เชียงของ ไม่เพียงจะเป็นการสร้างงานให้กับคนในพื้นที่แล้ว ยังสอดรับกับการก่อสร้างถนนสาย R3A  ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างเชียงของ-หลวงน้ำทา-เชียงรุ้ง-คุนหมิง ซึ่งในปี 2555โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) จะแล้วเสร็จ

 โดยเน้นอุตสาหกรรมที่มีการเพิ่มมูลค่าโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าในการผลิตและเป็นอุตสาหกรรมสะอาด  ประกอบด้วย แปรรูปเกษตรและอาหาร  อัญมณีและเครื่องประดับ   สิ่งทอขั้นปลาย  บริการขนส่ง  เครื่องใช้ไฟฟ้า/electronics   ยา/เครื่องสำอางสมุนไพร  อุปกรณ์และเครื่องจักรกลการเกษตร  หัตถกรรม/OTOP และแปรรูปไม้และการพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดึงนักลงทุนเข้าลงทุนในพื้นที่ถือว่ายังล่าช้ามาก

 ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาอัตราเศรษฐกิจของเชียงรายเติบโตสูงเป็น 6 เท่า โดยปี 2554 มีปริมาณการค้าชายแดนสูงถึง 29,771.51 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.25จากปีก่อน โดยเป็นมูลค่านำเข้าราว 3,600 ล้านบาท และมูลค่าส่งออกกว่า 26,000 ล้านบาท จึงทำให้เชียงรายได้ดุลการค้าจากการค้าขายผ่านชายแดนที่ด่านถาวร 4 จุดใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงแสน และเชียงของตรงข้ามกับฝั่งลาว และอำเภอแม่สายตรงกับอำเภอท่าขี้เหล็กของพม่า นอกจากนี้ยังมีจุดผ่อนปรนอีก 10แห่ง รวมถึงธุรกิจและธุรกรรมกับ 3 ประเทศ คือ พม่า จีน และลาวนั้นก็คึกคักและเต็มไปด้วยขบวนรถบรรทุกสินค้าที่แล่นผ่านด่านแบบล้นคัน ซึ่งสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเป็นที่ต้องการอย่างสูงในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้เพราะได้รับความเชื่อมั่นว่าเป็นสินค้าคุณภาพดี แม้จะมีราคาสูง ขณะที่สินค้านำเข้าผ่านชายแดนส่วนใหญ่คือพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้และดอกไม้จากจีนที่คิดเป็นปริมาณกว่าร้อยละ 80ของสินค้าทั้งหมดทีเดียว ปัจจุบันเชียงรายกำลังเพิ่มความคล่องตัวของระบบขนส่งและโลจิกติกส์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพราะรัฐบาลไทยและลาวกำลังดำเนินโครงการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 เพื่อข้ามแม่น้ำโขง บริเวณเชียงของ-ห้วยทราย ซึ่งจะทำให้ปัญหาความยุ่งยากจากการขนส่งบนแพขนานยนต์ถูกกำจัดออกไป

 อานิสงส์ของความร่วมมือในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หรือข้อตกลงทางการค้า FTAของไทยและจีน รวมถึงการผลักดันให้เชียงรายเป็นประตูสู่การค้าของกลุ่มภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง GMS(จีนยูนนาน พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ไทย) และ กลุ่มBIMSTEC (อินเดีย บังคลาเทศ พม่า ศรีลังกา ภูฏาน เนปาล ไทย)  ส่งผลให้เชียงรายที่เคยสงบเงียบต้องลุกขึ้นมารับมือกับความพลุกพล่านที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ด้านหนึ่ง เศรษฐกิจที่เติบโตจะสร้างบรรยากาศที่คึกคักให้กับเมือง การหลั่งไหลของแรงงานต่างชาติ และต่างเมืองก็จะนำมาซึ่งสีสันใหม่ที่ส่งพลังงานทั้งด้านบวกและด้านลบ เช่น ปัญหาความแออัด อาชญากรรม หรือกระทั่งการจราจรที่คับคั่ง และนอกเหนือจากการค้าและการลงทุนแล้ว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการยังเป็นที่น่าจับตา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีแผนเปิดตลาดการท่องเที่ยวของเชียงรายเพื่อให้เป็นจังหวัดต้นแบบการท่องเที่ยวรับ AEC เพราะเชียงรายมีจุดเชื่อมโยงกับสิบสองปันนา ฝั่งโขง พม่า รวมถึงการผลักดันสายการบินต่างประเทศให้บินตรงจากประเทศต่างๆ มาสู่เชียงรายให้มากขึ้น อาทิ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยปัจจุบัน เชียงรายมีรายได้จากการท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละ 5 หมื่นล้านบาท  ซึ่งหากมีการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว การปรับปรุงมาตรฐานและรูปแบบสินค้าให้มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น ควบคู่กับรักษาความเป็นพื้นเมือง การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก การปรับปรุงเรื่องสุขอนามัยและความสะอาด ก็จะทำให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มรายได้จากการทอ่งเที่ยวเป็น 1 แสนล้านบาท และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้ได้เฉลี่ย 2 ล้านคนต่อปีภายในปี 2558   

 รื้อเขตเศรษฐกิจพิเศษนครแม่สอด

 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนครแม่สอด และเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนที่สอดคล้องและสามารถเดินหน้าควบคู่กันได้ เพราะเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นในลักษณะเดียวกัน  โดยแนวความคิดเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2547 ในสมัย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร  เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด ตามมติ ครม. เพื่อให้แม่สอดเป็นเมืองเศรษฐกิจ-การค้าชายแดน เพราะมีศักยภาพและความพร้อมของเมืองสูงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ-การลงทุนภาคอุตสาหกรรม-ภาคเกษตร และการท่องเที่ยว และได้มีการจัดทำร่างกฎหมาย ขึ้นมา 1 ฉบับ ในสมัย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  แต่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ยังไม่ทันผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะได้สิ้นสุดวาระของรัฐบาลไปก่อน

 ต่อมาในปี 2550 ผู้บริหารท้องถิ่น-ภาครัฐและเอกชนและประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่สอด ได้มีการทำประชาคมรวมทั้งประชาพิจารณ์ที่จะสานต่อนโยบายของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย และประชาชนใน อ.แม่สอด เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร โดยจังหวัดตากได้มอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาและวิจัยความพร้อมของพื้นที่และประชาชน จนได้ข้อสรุปว่าแม่สอดมีศักยภาพและความพร้อมในทุกด้านที่จะพัฒนาไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จึงได้ดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ“นครแม่สอด” ตลอดจนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร ก็ได้ข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกัน

 ต่อมา  จังหวัดตากและเทศบาลเมืองแม่สอดในขณะนั้น ได้ทำหนังสือเสนอรัฐบาลในสมัยของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของไทย นำกลับมาพิจารณาทบทวนเพื่อจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนครแม่สอด  โดยผ่านไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐบาลได้หมดวาระลงเสียก่อนปี พ.ศ. 2552  รัฐบาลในขณะนั้น ได้ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้เกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนครแม่สอด นำเสนอจนผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา และผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว

 และต่อมาในช่วงกลางปี 2554 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ได้ขึ้นดำรงนายกรัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่น    ในอำเภอแม่สอด รวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หอการค้าจังหวัดตาก-สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก        นักธุรกิจ ได้เดินทางเข้าพบเพื่อขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนครแม่สอด และเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด โดยขอให้ดำเนินการควบคู่พร้อมๆกัน ตามนโยบายเดิมของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร  เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือน พล.อ.เต็งเส่ง ประธานาธิบดีของพม่า จนนำไปสู่การเปิดด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดี หลังจากที่พม่าได้มีการปิดด่านพรมแดนเมียวดี มาเป็นระยะเวลากว่า 1ปีเศษ

 นอกจากนี้พม่ายังถือโอกาสในการเปิดพรมแดนครั้งนี้ทำพิธีเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี อย่างเป็นทางการ  และเมื่อพม่าเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี ที่อยู่ตรงข้ามและทำการค้าชายแดนกับ อ.แม่สอด ทำให้รัฐบาล  ได้นำเรื่องการพิจารณาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด กลับมาเร่งดำเนินการ เพื่อรองรับให้นครแม่สอด เป็นเมืองเศรษฐกิจการค้าชายแดน-การลงทุน-การท่องเที่ยวระหว่างประเทศศูนย์กลางภูมิภาคบนระเบียงเศรษฐกิจเส้นทางสายตะวันออก-ตะวันตก         East-West Economic Corridor (EWEC) เป็นพื้นที่รองรับประชาคมอาเซียน  ที่จะเกิดขึ้นใน ปี พ.ศ. 2558
จนเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร อย่างเป็นทางการครั้งแรกของปี 2556 ของกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ กำหนดพื้นที่แม่สอด จังหวัดตาก ยังเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เตรียมพิจารณาในครั้งนี้

 เตรียมเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

 การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายนิคมอุตสาหกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆจะส่งผลให้ทวายก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อการค้าที่เจริญก้าวหน้าและการเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนตอนใต้ และเพื่อตอบสนองความต้องการอย่างต่อเนื่องในการขนส่งทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน
รัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of understanding  MOU ) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 ในการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกทวายและถนนเชื่อมต่อไปยังประเทศไทย บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (Italian-thai Development Public Company Limited “ITD”) ได้ลงพื้นที่ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและทำแผนงานพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2551 การท่าเรือสหภาพพม่าได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ ( Memorandum of Understanding "MOU") เกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งครอบคลุมท่าเรือน้ำลึกทวายและโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีข้อเสนอที่จะพัฒนาถนนเชื่อมโยงจากพรมแดนทวายไปสู่ประเทศไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบขนส่งแบบบูรณาการ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 บริษัทอิตาเลียนไทยฯได้ลงนามในข้อตกลงเรื่องสิทธิในการพัฒนาและดำเนินการบริหารโครงการทวายตามระยะเวลาการเช่าที่ดิน เป็นเวลามากกว่า 75 ปี ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรม ถนนเชื่อมโยงพรมแดน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2555 กระทรวงการคลังไทยได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการพัฒนาโครงการทวาย โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธานคณะทำงาน โดยมีคณะทำงานประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB) ผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Thailand) และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น และในวันที่ 23 กรกฎาคม 2555  ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding “MOU”) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า ว่าด้วยการขยายความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการสนับสนุนและผลักดันโครงการทวาย ซึ่งมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการจากรัฐบาลพม่า โดยกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐอย่างเป็นทางการ โครงการที่ลงทุนในทวายนั้น เป็นการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งได้เป็น 6 เขตอุตสาหกรรม ได้แก่ เขตที่อยู่อาศัย เขตการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องภายในนิคมอุตสาหกรรม ถนนและทางรถไฟเชื่อมโยงไปสู่ประเทศไทย รวมไปถึงน้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวมะตะบันไปยังชายแดนไทยพม่า ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดทวายประมาณ 28 กม. ซึ่งอยู่ในตอนเหนือของอ่าวเมืองมะกัน  มีการลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ถนนเชื่อมโยงจากทวายไปยังประเทศไทย และด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลพม่าในการเชื่อมโยงทางรถไฟจากทวาย ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ มูเซ เชื่อมต่อไปยังทางรถไฟจีนที่คุนหมิง ทำให้โครงการนี้ได้รับการเสนอให้เป็นจุดศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญของภูมิภาค เชื่อว่าท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายนั้น จะทำทำหน้าที่เป็นประตูสู่การค้าใหม่ให้เส้นทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกให้กับอินเดีย จีน ตะวันออกกลาง ยุโรปและแอฟริกา ซึ่งจะช่วยลดการจราจรที่คับคั่งในช่องแคบมะละกา ลดเวลาการขนส่งและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และเป็นสถานที่ที่ได้เปรียบในการค้าเนื่องจากตรงเข้าถึงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียในการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ในนิคมอุตสาหกรรมยังช่วยสร้างตลาดใหม่สำหรับการลงทุนของต่างประเทศ จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและจากการคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า และการพัฒนาระหว่างประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ที่มา :

 
view