กระทรวงมหาดไทย เปิดกว้าง ชาวบ้าน กลุ่มทุน นำภ.บ.ท.5 -ที่ดินมือเปล่า ไม่มีหลักฐานการถือครองทำประโยชน์ ออกโฉนดบนที่เกาะได้ทุกแห่ง โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเกาะที่ มีอำเภอ-ศาลากลางจังหวัดเท่านั้น พร้อมตีกลับร่างแก้ไขกฎกระทรวงฉบับ 43 ของกรมที่ดิน แก้ไขด่วน เผย ไม่เป็นธรรมสำหรับเกาะอื่นอย่างลันตาที่มีพื้นที่ใหญ่กว่า เกาะยาวใหญ่-ยาวน้อย แต่ไม่มีที่ตั้งอำเภอ
แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งกลับร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับที่ 43 พ.ศ... กรณีเปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองที่ดินมือเปล่า จับจองโดยไม่มีเอกสารหลักฐานการครอบครองทำประโยชน์ หรือ ที่ดินภ.บ.ท.5 ฯลฯ
ทั้งนี้ ให้สามารถออกเอกสารสิทธิประเภทโฉนดบนที่เกาะได้เหมือนกับที่ดินทั่วไปทั่ว ประเทศ แต่กรมที่ดินมีเงื่อนไขในนิยามว่า ที่เกาะที่ออกเอกสารสิทธิได้จะต้องมีที่ตั้งของอำเภอ หรือศาลากลางจังหวัดเท่านั้น
ขณะเดียวกันคณะกรรมการมองว่า นิยามนี้ไม่เป็นธรรม หากจะเปิดช่องให้ออกเอกสารสิทธิบนที่เกาะได้นั้น จะต้องเปิดโอกาสดำเนินการได้ทุกเกาะโดยไม่ยกเว้น และไม่จำเป็นว่าพื้นที่เกาะนั้นจะมีที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดหรือ อำเภอหรือไม่ ยกตัวอย่าง เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ไม่มีที่ตั้งของอำเภอ แต่มีพื้นที่ใหญ่กว่า เกาะยาวใหญ่และเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา รวมกัน
"น่าจะให้สิทธิ์ ดังกล่าวด้วยไม่เช่นนั้นจะเกิดการเลือกปฏิบัติและเป็นการรอนสิทธิชาวบ้านโดย ไม่จำเป็น แต่ทั้งนี้ จะต้องเป็นเกาะที่ไม่ใช่เป็นที่ดินของรัฐเช่น ที่ราชพัสดุ ของกรมธนารักษ์ เกาะที่เป็นเขตป่าสงวนของกรมป่าไม้ หรือ กรมอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น"
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากรมที่ดินได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 43 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 กำหนดว่า หากไม่มีหลักฐานส.ค.1 (หลักฐานแสดงการครอบครองที่ดิน) ไม่สามารถออกโฉนดบนที่เกาะอีกต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ดินมือเปล่าที่ไม่มีหลักฐานการครอบครองที่ออกโดยกรม ที่ดิน แม้จะมีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ให้กับท้องถิ่นก็ตามเช่นภ.บ.ท.5 ก็ไม่ถือว่าเป็นหลักฐานที่กรมที่ดินออกให้ เนื่องจากกรมที่ดินมองว่า เป็นการเปิดโอกาสให้นายทุนเข้ามาทำประโยชน์
อย่างไรก็ดีก่อนหน้าที่กฎกระทรวงฉบับที่ 43 จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2543 ได้ มีเจ้าของที่ดินยื่นขอออกเอกสารสิทธิไว้ก่อนแล้วหรือ ยื่นขอออกโฉนดก่อนวันที่ 1 เมษายน 2543 จำนวน 1,194แปลง ทั่วประเทศ แต่กรมที่ดินตีความว่าแม้จะยื่นขอออกเอกสารสิทธิก่อนวันที่ 1 เมษายน 2543 ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์ขอออกเอกสารสิทธิได้
ดังนั้นจึงมีการฟ้องร้องต่อศาล และต่อมาศาลวินิจฉัยว่า หากมีหลักฐานขอออกเอกสารสิทธิก่อนที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวบังคับใช้ ให้สามารถใช้สิทธิ์ออกเอกสารสิทธิได้ ตามมาตรา 59ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 อย่างไรก็ดีเมื่อมีการร้องเรียนว่ากฎกระทรวงดังกล่าวรอนสิทธิ์ประชาชน กรมที่ดินจึงแก้ไขเพื่อช่วยเหลือประชาชนดังกล่าว
ด้านแหล่งข่าวกรมที่ดินกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงหมาดไทยได้ส่งกลับ ร่างแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 43 เพื่อให้แก้ไขคำนิยามดังกล่าวและต้องการให้เปิดกว้างออกเอกสารสิทธิบนที่ เกาะทั้งหมดโดยไม่ยกเว้นว่าจะต้องเป็นเกาะที่เป็นที่ตั้งของอำเภอและศาลา กลางจังหวัดอย่าง เกาะภูเก็ต เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะยาวใหญ่-ยาวน้อยจังหวัดพังงา ฯลฯ เท่านั้น ทั้งนี้เมื่อแก้ไขคำนิยามแล้วกรมจะส่งร่างกลับไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อ พิจารณาเห็บชอบต่อไปอีกครั้ง
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ : 04-06 มี.ค. 53
ความคิดเห็น