การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ได้กล่าวมาทั้งหมด เป็นการพัฒนาใน 3 ส่วนหลัก คือ
1. การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาทางด้านกายภาพในแหล่งประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ ซึ่งกรมฯ อาจต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปีจึงจะสามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้เสร็จสิ้น ซึ่งผลการพัฒนาดังกล่าวจะทำให้แหล่งประวัติศาสตร์ของไทยมีระบบทางกายภาพพื้นฐานที่สามารถตอบสนองความต้องการการเข้าชมของผู้เยี่ยมเยือนระดับคุณภาพได้ถึง 4 ล้านคนต่อปีหรือสามารถรองรับปริมาณของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2553 ( คาดการณ์นักท่องเที่ยวทั้งหมดที่ 17,500,000 คน ) ได้ร้อยละ 23
2. การพัฒนาด้านการตลาดท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ โดยแผนดังกล่าวเน้นการคัดสรรกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลางถึงสูง ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มลูกค้าของกลุ่ม international hotel chain กลุ่มการจัดประชุม นิทรรศการและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ( MICE ) และกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลางที่เดินทางแบบอิสระ ( non-group tourists ) ให้ตัดสินใจเข้าเยี่ยมชมแหล่งประวัติศาสตร์ของไทย โดยผลสัมฤทธิ์ของแผนนี้ จะก่อให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวคุณภาพซึ่งมีความสามารถการใช้จ่ายสูงไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดอันเป็นสถานที่ตั้งของแหล่งประวัติศาสตร์
3. การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารตามแนวทางรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งจะได้นำมาใช้ในอุทยานประวัติศาสตร์ของไทยจำนวน 10 แห่งก่อนที่จะกระจายไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจำนวน 44 แห่งและหน่วยงานอื่นๆ ของกรมศิลปากร โดยการพัฒนาระบบการจัดการตามแนวทางดังกล่าวนี้ จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการให้บริการองค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ การจัดการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานและมรดกทางวัฒนธรรมที่กรมศิลปากรรับผิดชอบ และบริการการท่องเที่ยวแก่ผู้เยี่ยมเยือน
การพัฒนาประสิทธิภาพทั้ง 3 ส่วนถือเป็นการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของหน่วยงานภาครัฐตามแนวทางของ World Competitiveness center ( IMD ) และเป็นไปเพื่อส่งเสริมคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนให้เอื้อต่อกระบวนการอนุรักษ์และพัฒนาซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับทางเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
ที่มา :