รอยทางลูกปัด เมืองท่าโบราณและเส้นทางข้ามคาบสมุทร
งานสัมมนานานาชาติ เรื่อง "ปริศนาแห่งลูกปัด" เมื่อกลางเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา ยังมีประเด็นใหญ่ที่น่าสนใจอีกมากมาย
โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบขุดหาและลักลอบค้าโบราณวัตถุ อันเป็นการทำลายหลักฐานความรู้ เกี่ยวกับการติดต่อสัมพันธ์ ระหว่างผู้คนในซีกโลกตะวันตกและตะวันออกในสมัยโบราณ
ร้อยเอกบุญยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เสนอไว้ในการบรรยาย หัวข้อ "ปริศนาแห่งลูกปัดในภาคใต้ของไทย" ว่าแหล่งโบราณคดีในภาคใต้ที่พบลูกปัดนั้น บางแหล่งเช่นแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง อ.สุขสำราญ จ.ระนอง มีร่องรอยบ่งชี้ว่าเป็นแหล่งผลิตลูกปัดทั้งลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินคาร์เนเลียน และอาร์เกต เช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีควนลูกปัดหรือแหล่งโบราณคดีคลองท่อม จ.กระบี่ ที่พบลวดลายลูกปัดเป็นสัญลักษณ์แบบเดียวกับที่พบในอินเดีย เช่น ลูกปัดรูปหน้าคน
"เราพบลูกปัดที่เชื่อว่าคนท้องถิ่นในสมัยนั้นมีการติดต่อกับคนอินเดีย หรือไม่คนอินเดียก็ต้องเคยมาทำลูกปัดที่นี่ เราพบหินคาร์เนเลียนที่มีเทคนิคเดียวกับที่อินเดีย แสดงว่ามีความสัมพันธ์กันด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งถ้าดูจากเส้นทางเดินเรือเลียบชายฝั่งทะเลจากอินเดียมาฝั่งอันดามันก็ไม่ใช่เรื่องยาก การขุดค้นทางโบราณคดีทุกชั้นดินเราพบชั้นที่อยู่อาศัยที่มีกิจกรรมของมนุษย์ด้วย"
ร.อ.บุญยฤทธิ์ เปิดเผยด้วยว่าชาวบ้านแถบภูเขาทองมีลูกปัดโบราณเก็บไว้เกือบทุกบ้าน ส่วนที่คลองท่อมโบราณวัตถุส่วนใหญ่จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคลองท่อม นอกจากนี้การสำรวจเบื้องต้นบริเวณพื้นที่ฝั่งอันดามันหลายแห่งพบว่ามีแหล่งลูกปัดอีกมาก
ในประเด็นการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างผู้คนสองซีกโลกในอดีตนั้น ร.อ.บุญยฤทธิ์ เคยพบก้อนดีบุกหนักประมาณ 13 กิโลกรัม ที่แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง แต่ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว ส่วนลูกปัดที่มีฝีมือการผลิตชั้นสูงจากตะวันออกกลางโดยเฉพาะจากอิหร่านในสมัยราชวงศ์อะคิมิดิส รวมถึงลูกปัดทองรูปหัวสิงโตที่เคยพบในแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง ก็ตกอยู่ในความครอบครองของเอกชนไปหมดแล้ว
"ผมคิดว่าคนโบราณแถบอันดามันน่าจะส่งออกผลิตภัณฑ์จากของป่า จำพวกสมุนไพร เขาสัตว์ หนังสัตว์ เครื่องเทศ ไม้สัก ไม้กฤษณา อย่างเช่นที่คลองท่อมเราพบไม้ซุงที่ตรงหัวไม้มีการเจาะรูสำหรับชักลาก น่าจะถูกชักลากเพื่อมาลงเรือที่คลองท่อม ที่นี่เรายังพบสำริดรูปเรือ และโบราณวัตถุประเภทหัวแหวนสลักเป็นรูปชาวโรมันแต่ฝีมือยังไม่ดีมาก น่าจะเป็นสินค้าทำเลียนแบบโรมัน แต่ทำขึ้นที่อินเดียก็ได้ หรืออาจเป็นไปได้ว่าทำจากโรมันโดยตรงแต่ส่งผ่านทางอินเดียที่เมืองท่ากาฐมัณฑุ"
นอกจากลูกปัด โบราณวัตถุประเภทอื่น เช่น เศษภาชนะดินเผาทั้งแบบมีลายและไม่มีลาย โดยเฉพาะลายกลีบบัวก็พบว่ามีเนื้อดินและลักษณะเดียวกับแหล่งโบราณคดีที่เมืองอะริกาเมดุ เมืองทางตอนใต้ของอินเดีย ส่วนโบราณวัตถุทางศาสนาพุทธ เช่น ธรรมจักรดินเผาที่คลองท่อม และหินคาร์เนเลียนที่ภูเขาทองและเขาสามแก้วมีรูปสัญลักษณ์ไตรรัตนะ
"ภาชนะดินเผาที่สำคัญที่พบมากและพบเป็นครั้งแรกในแถบอันดามันคือ Ruletted Ware ภาชนะชนิดนี้พบที่อินเดียและศรีลังกามากถึง 50 แหล่ง มีอายุประมาณ 2,000-2,200 ปีมาแล้ว มีความสำคัญมากในช่วงแรกเริ่มประวัติศาสตร์ เชื่อกันว่าภาชนะเหล่านี้แพร่กระจายมาทางอันดามัน ลามไปถึงเกาะชวา และบาหลี โดยคนสองกลุ่ม คือพ่อค้าและพระ เพราะฉะนั้นคนที่ทำภาชนะดินเผานี้น่าจะนับถือศาสนาพุทธ เป็นไปได้ไหมว่าลักษณะของภาชนะแบบนี้เป็นจุดเริ่มต้นของบาตรพระ" ร.อ.บุญยฤทธิ์ ทิ้งคำถามปลายเปิด
ต่อประเด็นเรื่องพ่อค้าเป็นผู้นำภาชนะสำคัญนี้มายังดินแดนอุษาคเนย์ พบหลักฐานสำคัญ ได้แก่ เหรียญทองหรือตราจารึกภาษาพราหมี ตัวอักษรทมิฬ อายุราวคริตศตวรรษที่ 1 มีสัญลักษณ์สำคัญทางศาสนาพุทธอยู่ตรงกลาง นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้ครอบครอง ได้จัดส่งให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาทมิฬจากหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์อ่าน และส่งกลับมาอ่านยืนยันโดย อ.ไมเคิล ไรท์ ได้ความว่า
...พฤหัสบดี ศรมสก นาวิกะสะ...
นพ.บัญชา อธิบายว่า "นาวิกะสะ" มีความหมายว่า "เป็นของนายเรือ" คำว่า "ศรม"(สะ-ระ-มะ) หมายถึง "ชนชั้นกลาง"
"ตรานี้แปลเป็นไทยได้ว่าตราของนายเรือนามว่าพฤหัสบดี ซึ่งน่าจะอยู่ในชนชั้นพราหมณ์"
ไม่เพียงโบราณวัตถุจากโลกตะวันตก ที่แหล่งโบราณคดีควนลูกปัดยังพบคันฉ่องสำริดจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นด้วย
กล่าวสำหรับบทส่งท้ายของ ร.อ.บุญยฤทธิ์ จบที่การไล่ลำดับเวลาของชุมชนสำคัญทางอันดามัน นั่นคือประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-15 หรือราว 1,000 ปีที่แล้ว หลักฐานที่แหล่งโบราณคดีภูเขาทองและคลองท่อมเริ่มลดความสำคัญลง โดยมาพบหลักฐานทางโบราณคดีเพียงแห่งเดียวที่ทุ่งตึก เกาะคอเขา จ.พังงา
"ผมคิดว่าพัฒนาการการเรียนรู้เรื่องการเดินเรือดีขึ้น สามารถเดินทางตัดข้ามทะเลตรงๆ ไม่ต้องเลาะอ่าวเบงกอลเหมือนก่อน และยังมีการตัดข้ามคาบสมุทรด้วยเส้นทางบกไปอ่าวไทยได้ ทำให้เมืองท่าอื่นๆ ลดความสำคัญลงไป"
ผู้เสนอคนเดิมแจกแจงว่าที่ทุ่งตึกพบหลักฐานเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง สะท้อนการเติบโตเป็นเมืองท่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-16 อันตรงกับสมัยศรีวิชัย
"ทุ่งตึกเป็นโบราณสถานก่อด้วยอิฐอายุเก่าแก่ที่สุดในชายฝั่งอันดามันและของประเทศไทย พบหลักฐานเปอร์เซีย จีน ลูกปัดที่มีทองเคลือบด้านใน พบโมเสกที่สวยงามมาก ใช้เทคโนโลยีการผลิตชั้นสูง ผมคิดว่าเป็นลูกปัดแก้วที่สวยที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบภาชนะแก้วทรงคล้ายกับที่พบในซีเรียและอียิปต์ อาจใช้ใส่ยาหรือน้ำหอม" ร.อ.บุญยฤทธิ์ กล่าวและให้ข้อมูลว่าเกาะคอเขามีความยาวประมาณ 14 กิโลเมตร ตรงปากแม่น้ำตะกั่วป่า มีเส้นทางตัดข้ามคาบสมุทรไปออกอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี ตามระยะทางเลียบแม่น้ำและเส้นทางบกจะพบโบราณวัตถุมากมาย เช่น รูปเคารพทางศาสนา
"ตามเส้นทางข้ามคาบสมุทรนี้มีแหล่งโบราณคดีรองรับเป็นระยะๆ ไปออกที่แหลมโพธิ์ ใกล้เมืองไชยา สมัยนั้นเส้นทางถูกควบคุมทางการเมืองโดยไชยา ในสมัยศรีวิชัยเราจะบอกได้ว่าไชยามีความสำคัญอย่างไร ถ้าเส้นทางนี้หมดความสำคัญลง เมืองไชยาก็จบไปด้วย" ร.อ.บุญยฤทธิ์ สรุป
กล่าวได้ว่าตำนานลูกปัดอันดามันสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก อย่างน้อยประมาณ 2,000 ปี ร่วมสมัยกับสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
นักโบราณคดีชาวต่างชาติอีกคนหนึ่งที่มายืนยันความสำคัญของแหล่งโบราณคดีฝั่งอันดามัน คือ ดร.เบเรนิส เบลลิน่า ไพรส์ นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประเทศฝรั่งเศส
ดร.เบเรนิส ศึกษาเรื่องลูกปัดนานหลายปีโดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วของประเทศไทย เธอพบว่าที่นี่เคยเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ทั้งทางตะวันออกคือจีน และทางตะวันตก ได้แก่ อาหรับและอินเดีย ที่มาติดต่อค้าขายและตั้งสถานีการค้าขึ้น
เธอให้ความเห็นว่าแหล่งโบราณคดีฝั่งอันดามันมีความสำคัญสมควรเสนอต่อองค์กรยูเนสโกเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทว่าปัญหาใหญ่ที่จะเป็นอุปสรรคก็คือมีการลักลอบขุดค้นโบราณวัตถุ จนทำให้แหล่งความรู้เสียหายย่อยยับจนประเมินค่าไม่ได้
"ดิฉันอยากขอร้องว่าเราต้องพยายามติดตามนำโบราณวัตถุเหล่านี้กลับมาเพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง" ดร.เบเรนิส ทิ้งท้าย
เป็นคำร้องขอที่ท้าทายจิตสำนึกของคนไทยเจ้าของแผ่นดิน ทั้งใครก็ตามที่อยู่ในกระบวนลักลอบค้าโบราณวัตถุ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
*****
บทความที่เกี่ยวข้อง :
--The Golden Jubilee สุดยอดอัญมณีแห่งแผ่นดินสยาม
--Otto Kunzli (1948 ) ผู้ยิ่งใหญ่
--หินธิเบต
--รับกระแสโลกร้อนกับเครื่องประดับแซมบา
--Jewelry Art ศิลปะการทำเครื่องประดับ
--นาคา จิวเวลรี่ ลมหายใจแห่งศรัทธาในเครื่องประดับ
--พราวลาย' ความงามของเครื่องประดับไทย
--Jewelry designer เพิ่มคุณค่า สร้างสรรค์ด้วยงานดีไซน์
--อัญมณีและเครื่องประดับจีนกับการออกแบบ
--โมคุเมะ กาเน่
--ปฏิวัติเงียบเครื่องประดับเงินญี่ปุ่น
--คอมพิวเตอร์กับการออกแบบเครื่องประดับ
--สีสันและดีไซน์ ความงามอันหรูหรามีระดับ
--ว่าด้วยเรื่อง ‘ไทเทเนียม’
--มนต์เสน่ห์ ศิลปะในลูกปัด
ยุวดี วัชรางกูร
ภาพ - ร.อ.บุญยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ
1 มกราคม พ.ศ. 2552
เข้าไปดูแหล่งลูกปัดได้ครับ