รายงานล่าสุดของคณะนักวิทยาศาสตร์ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาวะโลกร้อนกำลังคุกคามต่อพื้นที่เกาะ ชายฝั่ง และประชากรสัตว์ในโลก 1ใน 5 และ 2 ใน 3 ของทั้งหมด โดยประเมินว่า ก่อนปี 2020 ประชากรในอาฟริกา 75 ล้านคนจากทั้งหมด 250 ล้านคน จะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำ
ขณะที่ เมืองต่างๆ ของภูมิภาคเอเชีย จะต้องเสี่ยงภัยกับสถานการณ์ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง และน้ำท่วมพื้นที่ชายฝั่ง ส่วนยุโรปต้องพบปัญหาการสูญพันธุ์ของสัตว์ต่างๆ ไม่แพ้อเมริกาเหนือจะต้องเจอกับสถานการณ์คลื่นร้อนและการแย่งชิงน้ำจืด
รายงานบ่งชี้ด้วยว่า ขณะนี้ปัญหาการปล่อยสารก่อปฎิกิริยาเรือนกระจกเข้าขั้นวิกฤต แม้ว่าโลกจะยุติการปล่อยสารดังกล่าว ก็ยังต้องเสี่ยงกับสถานการณ์ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นสูง 4.6 ฟุต หรือเท่ากับช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรมหรือเมื่อปี ค.ศ.1850 ซ้ำร้ายหากไม่มีการตรวจสอบหรือป้องกัน ภาวะโลกร้อนจะยิ่งทวีความรุนแรง โดยเฉพาะภาวะขาดแคลนอาหารและโรคระบาด การแย่งชิงแหล่งน้ำ เกิดพายุที่รุนแรงขึ้น และเกิดภาวะแห้งแล้งบ่อยขึ้น โดยรายงานดังกล่าวได้ประเมิณด้วยว่า ในอนาคต ความหลากหลายทางธรรมชาติของพืชพันธุ์และสัตว์ป่าทั่วโลกจะสูญไปกว่า 70%
รายงานระบุว่า ปัจจุบัน ภาวะโลกร้อนเป็นผลจากการปล่อยก๊าซก่อปฎิกิริยาเรือนกระจกของมนุษย์กว่า 90% และทั่วโลกจะต้องใช้เงินเป็นมูลค่ามหาศาลเพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งรวมทั้งการละลายตัวอย่างรวดเร็วของธารน้ำแข็ง และการสูญพันธุ์ของประชากรพืชและสัตว์ต่างๆ ที่ขณะนี้ประเมินกว่า 20-30% กำลังได้รับผลกระทบแล้ว พร้อมทั้งระบุว่า หากก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ยังคงอยู่ในระดับปัจจุบัน ประเมินว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.4%-1.4 เมตร เพราะภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้ปริมาณน้ำทะเลขยายตัว และส่งผลกระทบขนาดใหญ่ต่อชายฝั่งและพื้นที่ราบต่ำ ไม่นับรวมภาวะธารน้ำแข็งโลกละลาย
ด้านนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า ขณะนี้ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเป็นไปอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ทางแก้ไขมีทางเดียว คือทั่วโลกจะต้องช่วยกันเร่งดำเนินการป้องกันลดภาวะโลกร้อนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และจีน
ที่มา : www.tei.or.th ข่าวสิ่งแวดล้อม