ดร.สนใจ หะวานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการทรัพยากรทางชายฝั่งและป่าชายเลน เปิดเผยว่า ประเทศในมหาสมุทรอินเดียที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิร่วมมือกันจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลภายใต้โครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ที่ประสบภัยสึนามิซึ่งเบื้องต้นได้มีการจัดทำโครงการนำร่องใน 6 ประเทศได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ เซเชลส์ ศรีลังกา และไทย
สำหรับประเทศไทย กรมฯได้ทำการคัดเลือกพื้นที่สาธิตการจัดระบบการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยจะนำร่องในจังหวัดระนองและพังงาซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ สึนามิอย่างหนัก ขณะเดียวกันจะทำการส่งเสริมการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการทำลายทรัพยากรชายฝั่งที่รุนแรงควบคู่กันไป เพื่อกำหนดแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้มีผลงานวิจัยยืนยันว่า ป่าชายเลนสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 2.8 ตัน/ไร่/ปี ขณะที่ป่าบกสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 2.3 ตัน/ไร่/ปี จึงน่าจะช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนได้ในระดับหนึ่ง
ที่มา : www.dailynews.co.th วันที่26 พฤศจิกายน 2550