อนาคตของ เกาะระ อ.คุระบุรี จ.พังงา ยังคงคลุมเครือ เนื่องจากมีหลายกรณีที่ยังตกเป็นข้อพิพาทอยู่ อาทิ การจัดตั้งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ทางทะเลและชายฝั่ง หรือควรเป็นอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งหากตั้งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ฯ แล้ว จะใช้พื้นที่ทั้งหมด 1.2 หมื่นไร่ ตามที่นักวิชาการเสนอ หรือ 4,000 ไร่ ตามที่ศักยภาพขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ดูแลได้
อาจารย์ กนก เหวียนระวี อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตประธานคณะที่ปรึกษาคณะทำงานในการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ทางทะเลและชายฝั่ง เกาะระ ให้เหตุผลสนับสนุนการตั้งสวนพฤกษศาสตร์ว่า พื้นที่เกาะระทั้ง 1.2 หมื่นไร่มีความสมบูรณ์และเป็นตัวแทนของภูมิประเทศได้เป็นอย่างดี โดยธรรมชาติได้สร้างระบบนิเวศน์ในลักษณะพึ่งพาและดูแลตัวเองมานานกว่าพันปี
“ที่ตรงนี้มีทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ที่หายาก ซึ่งหากใช้ทำสวนพฤกษศาสตร์จะเป็นการซื้อเวลาล่วงหน้าเป็นพันปี พื้นที่เกาะระเรียกได้ว่ามีความเก่าแก่กว่าสวนพฤกษศาสตร์คิวการ์เด้น ประเทศอังกฤษ ซึ่งทุกคนยอมรับว่าดีที่สุดในโลก”
สำหรับข้อพิพาทกรณีการใช้พื้นที่นั้น เขา เห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ทั้ง 1.2 หมื่นไร่ เพราะง่ายต่อการดูแลพื้นที่ เนื่องจากเกาะระมีลักษณะเป็นเกาะแคบยาว มีภูเขาตั้ง ดังนั้นหากเดินเรือรอบเกาะจะสามารถสังเกตเห็นถึงการบุกรุกได้
“ถ้าไม่ทำทั้ง 1.2 หมื่นไร่ ก็จะไม่เข้าคุณสมบัติการเป็นสวนพฤกษศาสตร์ โดยเฉพาะโครงการนี้มีการแบ่งสรรพื้นที่สำหรับใช้งานเป็นสัดส่วน เช่น พื้นที่สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ พื้นที่สำหรับหารายได้เพื่อบริหารจัดการเกาะ ซึ่งหากใช้พื้นที่เพียง 4,000 ไร่ ก็จะทำให้บางพื้นที่ถูกตัดไป ขาดความสมดุล และโครงการก็จะหมุนไม่ครบรอบ”
ส่วนที่องค์การสวนพฤกษศาสตร์ฯ อ้างว่ากำลังบุคลากรและงบประมาณไม่เพียงพอต่อการดูแล 1.2 หมื่นไร่นั้น คิดว่ามิวิธีบริหารจัดการได้ อาทิ การทำเป็นโครงการพิเศษเทิดพระเกียรติฯ แล้วดึงความร่วมมือของหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาช่วย แต่เหตุที่องค์การสวนพฤกษศาสตร์ฯ อ้างนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นข้ออ้างเพื่อจะล้มเลิกโครงการเท่านั้น
“จะเห็นได้ว่าการกันพื้นที่ 4,000 ไร่จาก 1.2 หมื่นไร่นั้นมีเงื่อนงำ ทางบอร์ดขององค์การฯ และผอ.องค์การฯ จะปฏิเสธถึงความน่าสงสัยนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะการออกเอกสารสิทธิทำกิน (สทก.) บนพื้นที่ที่ยังบริสุทธิ์ และติดชายหาดสวยงาม ขอถามว่าตรงนี้ส่อแววทุจริตหรือไม่ และใครเป็นคนทำ ทางองค์การฯ ต้องหาคำตอบมาอธิบาย”
นอกจากนี้จากการลงพื้นที่เกาะระ พร้อมกับคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 10 ชีวิต เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทุกคนเห็นตรงกันว่าพื้นที่แห่งนี้เหมาะแก่การเป็นสวนพฤกษศาสตร์อันดับ 1 ของโลก
อาจารย์กนก บอกว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ พบร่องรอยการตัดไม้ใหญ่ซึ่งคาดว่าชาวบ้านไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีการใช้เครื่องมือและเลื่อยยนต์ และแผ้วถางเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้ยังพบการปลูกกล้ายางอายุประมาณ 1 เดือน – 1 ปี แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามสมอ้างให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่เสื่อมโทรม และเคยทำเกษตรกรรม จากนั้นก็จะออก สทก.ในท้ายที่สุด
“ตอนนี้สังคมกำลังเพ่งเล็งตัวผู้บริหารและผอ.องค์การฯ อยู่ว่าทำไมถึงปล่อยให้พื้นที่เป็นอย่างนี้ ที่สำคัญผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงทรัพย์ฯ ก็รู้เรื่องนานแล้วแต่ก็ยังนิ่งเฉย ดังนั้นทุกคนต้องมีคำตอบให้กับสังคม”
รศ.สุภาพร สุกสีเหลือง ผอ.สถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ บอกว่า ได้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ โดยมีทั้งระบบนิเวศน์ทางบก บนเขา หาดทราย และรอบชายฝั่ง ซึ่งน่าเสียดายหากพื้นที่แห่งนี้จะถูกบุกรุกและกลายเป็นสมบัติส่วนบุคคลของใคร
“ที่แห่งนี้เหมาะสมอย่างยิ่งในการตั้งสวนพฤกษศาสตร์ ถือเป็นการยกระดับความสมบูรณ์เหนือกว่าการเป็นอุทยาน ที่สำคัญสถานที่แห่งนี้ไม่ต้องลงทุนอะไรมากเพียงแต่นำความสมบูรณ์ที่ธรรมชาติสร้างไว้มาปรับใช้ ยืนยันว่าสิ่งที่นักวิชาการพูดนั้นพูดแทนธรรมชาติเพื่อประโยชน์สูงสุด”
สำหรับข้อพิพาทเรื่องการใช้พื้นที่นั้น ควรมาคุยกันเพื่อหาข้อสรุป ต้องดูว่าถ้าทำทั้ง 1.2 หมื่นไร่แล้วจะกระทบกับชาวบ้านหรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรทำทั้ง 1.2 หมื่นไร่ เพราะหากทำเพียง 4,000 ไร่ จะสุ่มเสี่ยงต่อการบุกรุก ถามว่าหากองค์การสวนพฤกษศาสตร์จะดูแลเพียง 4,000 ไร่ แล้วใครจะรับประกันว่าพื้นที่รอบนอกจะไม่ถูกบุกรุก
“ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพราะคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือชาวบ้าน และการดำเนินการใดๆ ต้องคำถึงถึงกฎของธรรมชาติ มนุษย์ต้องเคารพกฎนี้ มิเช่นนั้นธรรมชาติก็จะลงโทษเรา”
ผศ.ยงยุทธ จรรยารักษ์ นักวิชาการด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า สิ่งที่ดีที่สุดหรือ The best คือสิ่งใดก็ตามที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองในสภาวะนั้นๆ โดยที่เกาะระนับว่ามี The best หลายอย่าง อาทิ ชาวมอแกนซึ่งอยู่ได้บนท้องทะเลอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน จึงนับเป็นแหล่งเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์เปิดสำหรับโลก
ด้วยความสมบูรณ์ของเกาะระซึ่งยังไม่ถูกอิทธิพลของเมืองเข้าครอบงำ จึงเหมาะแก่การทำเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางชีวภาพทั้งพืช สัตว์ มนุษย์ รวมทั้งสมควรที่จะยกระดับเห็นเป็นพื้นที่ระดับโลก เพราะจะได้มีกฎเกณฑ์ในการรักษาที่ชัดเจน
“ไม่ว่าองค์กรใดจะเข้ามาดูแลเกาะระก็ตามต้องเข้าใจคอนเซ็ปก่อน โดยต้องถอยตัวออกจากผลประโยชน์ทั้งหมด อย่างคิดว่าเป็นสมบัติของใคร เพราะทั้งหมดคือสมบัติของโลก ที่สำคัญพื้นที่แห่งนี้จะต้องชะลอโครงการทั้งหมดและหยุดการบุกรุกให้ได้ เชื่อว่าหากมีการออก สทก.ได้ ภายใน 5 ปี ทั้งหมดจะเป็นของนายทุน”
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ วันที่ 7 กรกฎาคม 2553
0 ความคิดเห็น