บิ๊กทอท. วิตกปัญหาคอขวดสนามบินภูเก็ตหลังขยายเฟส 2 เสร็จ คาดผู้โดยสารล้นเกิน 12.5 ล้านคนขึ้น เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ดึงให้ลงสนามบินกระบี่ทดแทน พร้อมหาแนวทางพัฒนารองรับอนาคตที่เล็งขยายเพิ่มเป็น 15 ล้านคน
โดยศึกษาสร้างรันเวย์ที่ 2 เลือกระหว่างการขยายนอกพื้นที่ หรือสร้างในทะเล ยกโมเดลสนามบินฮันเนดะ เป็นต้นแบบ รวมถึงมองการพัฒนาสนามบินใหม่เพิ่มที่เกาะคอเขา จ.พังงาเสริม
น.ต. ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ ทอท.เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในขณะนี้ท่าอากาศยานภูเก็ต กำลังเผชิญกับปัญหาคอขวด เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบิน มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนเกินขีดความสามารถในการรองรับของสนามบินในปัจจุบันไปแล้ว รวมถึงมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินจะทะลุเกินกว่าแผนขยายสนามบินภูเก็ตระยะที่ 2 มูลค่าการลงทุน 5.14 พันล้านบาท ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2558 ด้วย
"ศักยภาพของสนามบินภูเก็ตรองรับผู้โดยสารได้ 6.5 ล้านคนต่อปี ในปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการมากถึง 9.5 ล้านคนแล้ว ปีนี้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นมาเป็นไม่ต่ำกว่า 10.5 ล้านคน และกว่าการขยายสนามบินภูเก็ตเฟส 2 ตามเป้าหมายการเพิ่มการรองรับขึ้นมาเป็น 12.5 ล้านคนต่อปี เมื่อแล้วเสร็จผู้โดยสารก็คงจะเกิน 12 ล้านคนทันทีเช่นกัน"
ล่าสุดจึงได้ให้นโยบายแก่ฝ่ายบริหารไปว่าต้องพิจารณาหาแนวทางในการแก้ปัญหาระยะสั้นที่เกิดขึ้น เพราะปัจจุบันสนามบินภูเก็ตเปิดให้บริการเต็มตลอดช่วงเวลาบิน 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว รวมถึงมองการหารือถึงแผนในการขยายสนามบินเพิ่มเติมจากแผนที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อรองรับการเติบโตของผู้ใช้บริการในอนาคต เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้มีการขยายตัวของการเปิดบริการเที่ยวบินตรงจากภูเก็ตโดยไม่ผ่านกรุงเทพฯเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแผนแก้ปัญหาระยะสั้น ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆไม่ว่าจะเป็นกรมการบินพลเรือน(บพ.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) รวมถึงการบินไทย เพื่อส่งเสริมให้ขายแพ็กเกจในราคาจูงใจไปลงสนามบินกระบี่แทน ด้วยการนำเสนอราคาค่าตั๋วเครื่องบินที่ถูกกว่า เป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวกระบี่ก่อนแล้วนั่งรถต่อมาเที่ยวภูเก็ตแล้วบินกลับ เป็นต้น ซึ่งก็จะไม่ทำให้ไม่เสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว เพราะขณะนี้ทอท.ต้องปฏิเสธโดยเฉพาะเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่มาขอบินเข้าภูเก็ต เนื่องจากไม่มีหลุมจอดเพียงพอที่จะรองรับเครื่องบินเพิ่มได้
ขณะเดียวกันจะปรับแผนในส่วนของการขยายสนามบินภูเก็ตระยะที่ 2 โดยเร่งรัดแผนงานก่อสร้างหลุมจอดอากาศยาน จำนวน 5 หลุมจอดให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ก่อน เพื่อให้สนามบินภูเก็ต สามารถเปิดให้บริการหลุมจอดได้รวมเป็น 20 หลุมจอด ซึ่งจะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับแผนระยะยาว ถัดจากแผนขยายสนามบินภูเก็ตระยะที่ 2 มีการหารือในเบื้องต้นไว้อยู่หลายแนวทาง โดยแนวทางแรก จะเป็นการขยายขีดความสามารถของสนามบินภูเก็ตเพิ่มเติม ให้สามารถขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มได้อีกเป็น 15 ล้านคน ซึ่งอาจจะรองรับได้อีก 1-2 ปี
รวมถึงการขยายรันเวย์ เพราะปัจจุบันสนามบินภูเก็ตมีทางวิ่ง(รันเวย์)และทางขับ(แท็กซี่ เวย์)เพียง 1 เส้นเท่านั้น จึงมองถึงแผนสร้างทางวิ่งและทางขับเพิ่มอีก 1 เส้น ซึ่งมีทั้งการขยายรันเวย์ในพื้นที่ของสนามบินภูเก็ตส่วนหนึ่งร่วมกับการจัดหาพื้นที่ของคนอื่นเพิ่มเติม หรือบางแผนก็มองว่าจะสร้างรันเวย์ต่อลงไปในทะเล ซึ่งเข้าข่ายขั้นตอนการทำ EIA เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยงบการลงทุนอยู่ที่หลักหมื่นล้านบาท ซึ่งหากสร้างรันเวย์ที่ 2 ได้ รันเวย์เดิม ก็สามารถมาเป็นแท็กซี่เวย์ และรันเวย์สำรองได้ด้วย
นอกจากนี้ยังมองว่าหากติดปัญหาไม่สามารถขยายสนามบินภูเก็ตได้จริงๆก็อาจจำเป็นที่ต้องมองการพัฒนาสนามบินใหม่ๆเพิ่มเติม โดยมองไว้ที่เกาะคอเขา จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นสนามบินที่ญี่ปุ่นเข้ามาสร้างไว้สมัยสงครามโลก เนื่องจากอยู่ห่างจากสะพานสารสินราว 100 กิโลเมตร
"แนวทางต่างๆในการขยายสนามบินภูเก็ต ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา ว่าแนวทางใดจะเป็นประโยชน์มากที่สุด และเหมาะสมสำหรับการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบิน เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจการขนส่งทางอากาศ " น.ต. ศิธา กล่าวทิ้งท้าย
ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.เผยว่า แผนในการขยายสนามบินภูเก็ตระยะที่ 3 เริ่มมีการมองแนวทางในส่วนที่จะสามารถดำเนินการได้ทันทีไว้แล้ว คือ การขยายการรองรับของสนามบินเพิ่มเป็น 15 ล้านคนต่อปี โดยมีโครงการย้ายอาคารที่พักพนักงานให้ออกไปอยู่นอกพื้นที่สนามบิน และนำพื้นที่มาขยายเป็นอาคารเชื่อมกับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างตามแผนเฟส 2 ซึ่งจะทำให้สนามบินสามารถเพิ่มพื้นที่ของอาคารผู้โดยสารและหลุมจอดอากาศยานได้เพิ่มขึ้น
ส่วนแผนในการสร้างรันเวย์ที่ 2 ที่เริ่มพูดคุยกันนั้น ทอท.ต้องการพื้นที่สำหรับการสร้างรันเวย์ยาว 3.5 พันเมตร กว้าง 60 เมตร หากสร้างบนพื้นดิน ก็จำเป็นต้องซื้อที่ดินเพิ่มหรือเวนคืน เพื่อเฉียงหลบภูเขาที่ขวางรันเวย์ปัจจุบันอยู่ แต่หากเป็นการสร้างทางวิ่งในทะเล ก็จะใช้โมเดลของสนามบินฮันเนดะ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศญี่ปุ่นซึ่งสนามบินแห่งนี้ก็มีการสร้างรันเวย์ในทะเลเช่นกัน โดยการก่อสร้างจะไม่ใช่เป็นการถมทะเล แต่จะเป็นการใช้เสาเป็นตัวรับและสร้างรันเวย์บนเสา คล้ายๆกับการสร้างท่าเทียบเรือยื่นลงไปในทะเล ซึ่งหากสร้างรันเวย์ในทะเล ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องผลกระทบทางเสียง แต่การดำเนินงานก็ต้องศึกษาในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และงานด้านวิศวกรรมด้วย
ทั้งนี้ในอดีตเคยมีการสำรวจความลึกของพื้นที่นี้อยู่บ้าง ที่จากผิวน้ำถึงใต้ทะเลมีความลึกอยู่ที่ 8 เมตร แต่ปัจจุบันพื้นที่นี้น่าจะตื้นขึ้นกว่าเดิมมาก และยังเป็นแนวทางที่จะรองรับการขยายตัวของการเติบโตทางอากาศของภูเก็ตในอนาคตได้อีกแนวทางหนึ่ง ทั้งยังจะทำให้มีพื้นที่ในการสร้างหลุมจอดได้เพิ่มอีก 28 หลุมจอดด้วย ซึ่งแนวทางสร้างรันเวย์ในทะเลนี้ ได้มีการผลักดันผ่านอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ไปแล้วผ่านทางคนในตระกูลชินวัตร
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า การขยายสนามบินภูเก็ตนอกเหนือจากเฟส 2 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ถือเป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารทอท.ก็เริ่มเล็งเห็นความสำคัญ เพราะปัจจุบันมีหลายสายการบินที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว ต่างขอที่จะเพิ่มเที่ยวบินเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่สนามบินภูเก็ตก็ต้องปฏิเสธไป และการจะผลักดันให้ไปลงสนามบินกระบี่ ก็ได้รับการแจ้งจากบริษัทนำเที่ยวโดยเฉพาะทัวร์ตลาดรัสเซีย และจีน ซึ่งถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของภูเก็ตในขณะนี้ ว่าเคยพยายามจะขายแล้ว แต่ได้รับการตอบรับน้อยมาก เพราะนักท่องเที่ยวต้องการมาลงที่ภูเก็ตเป็นหลัก ซึ่งตลาดการบิน ไม่เหมือนกับตลาดอื่นที่สามารถทดแทนกันได้ เพราะหากเขามาภูเก็ตไม่ได้เขาก็ไม่มาที่อื่น
อีกทั้งหากสนามบินภูเก็ต ไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวได้ทัน การท่องเที่ยวของภาคใต้ในฝั่งอันดามัน ก็จะต้องเผชิญกับปัญหากับดักราคา เพราะโรงแรมในกระบี่ พังงา ต่างก็ต้องแข่งกันลดราคา เพื่อดึงนักท่องเที่ยวที่มาได้ในจำนวนที่สนามบินภูเก็ตรับได้ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มนี้เข้าไปเที่ยวกระบี่และพังงาแทน
ข้อมูล ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 พบว่าสนามบินภูเก็ตมีสายการบินใช้บริการอยู่ 56 สายการบิน เป็นสายการบินประจำ 41 สายการบิน สายการบินเช่าเหมาลำ 15 สายการบิน ทำการบินจาก 55 เมืองใน 26 ประเทศ เฉลี่ยมีเที่ยวบินวันละ 231 เที่ยวบิน ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 3.99 หมื่นคนต่อวัน ชั่วโมงคับคั่งรองรับได้ 2.4 พันคนต่อชั่วโมง แต่ปัจจุบันชั่วโมงคับคั่งมีผู้โดยสาร 3.56 พันคนต่อชั่วโมง ถือว่าเกินขีดความสามารถในการรองรับ
ที่มา:จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,845 วันที่ 19-22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
0 ความคิดเห็น