อะไรคือราคาที่เราต้องจ่ายในระยะยาว ถ้าต้องสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไป ? ประเทศต่าง ๆ จะต้องลงทุนมากเท่าไร หากต้องการจะหยุดความสูญเสียดังกล่าว ? และจะเสียหายมากแค่ไหน ถ้าพวกเราไม่ยอมทำอะไรเลย ? เหล่านี้คือคำถามที่โครงการ TEEB (The Economics of Eco-systems and Biodiversity เศรษฐกิจของระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ) พยายามจะค้นหาคำตอบ
โครงการศึกษานำร่องดังกล่าวนำโดย ปาวาน สุขเดฟ (Pavan Sukhdev) ผู้อำนวยการศูนย์ตลาดโลกของธนาคารดอยช์แบงก์ในลอนดอน และสนับสนุนโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมสหพันธ์เยอรมนี และสหภาพยุโรป โดยมีศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมเฮล์มโฮลทซ์ (Helmholtz Centre for Environmental Research - UFZ) ร่วมบริหารด้านวิทยาศาสตร์ ผลลัพธ์เบื้องต้นจะถูกนำเสนอในการประชุมความหลากหลายทางชีวภาพโดยสหประชาชาติ ครั้งที่ 9 (9th UN Convention on Biological Diversity - COP9) ที่บอนน์ ประเทศเยอรมนี
“ความหลากหลายทางชีวภาพไม่เพียงรักษาสมดุลย์ของระบบนิเวศน์เอาไว้ มันยังเป็นแหล่งที่มาที่ของยารักษาโรคใหม่ ๆ ซึ่งไม่รู้จักหมดอีกด้วย มันช่วยรักษาห่วงโซ่อาหารให้สมบูรณ์ และช่วยให้คุณภาพน้ำและดินดีขึ้น” ศ.เยอร์เก้น ไมเนก (Jürgen Mlynek) ประธานสมาคมเฮล์มโฮลทซ์ (Helmholtz Association เป็นสมาคมของศูนย์วิจัยในประเทศเยอรมนี) กล่าว “คุณค่าของมันนั้นเกินกว่าที่เราจะอธิบายได้ด้วยดัชนีทางเศรษฐกิจใด ๆ ในขณะเดียวกันมันก็มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาล”
คณะผู้แทนในสหประชาชาติห้าพันคน จาก 190 ประเทศ จะร่วมประชุมกันที่บอนน์ระหว่างวันที่ 19 ถึง 30 พ.ค. 2551 การประชุมนี้จะเน้นการหารือเรื่องหนทางที่พอจะเป็นไปได้ในการหยุดยั้งความ ถดถอยอย่างต่อเนื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ ไมเนกพูดถึงเรื่องนี้ว่า “พวกเรากำลังเผชิญกับคลื่นการสูญพันธุ์ระลอกที่หกในประวัติศาสตร์ของ ดาวเคราะห์ดวงนี้ และสาเหตุหลักในครั้งนี้ก็คือการที่มนุษย์บุกรุกเข้าไปในแหล่งอาศัยของสปีชี ส์อื่น ๆ และเราก็เพิ่งจะมาเริ่มเข้าใจถึงคุณค่าทางเศรษฐกิจของความหลากหลายทาง ชีวภาพ”
สุขเดฟซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินประเมินว่า “คุณค่า” ของบริการที่เขตสงวนทางธรรมชาติ (เช่น เขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่า และเขตสงวนพันธุ์พืช) บนห้าทวีปในโลก (ไม่รวมในมหาสมุทร) มอบให้เรานั้น มีอยู่ถึงราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ประมาณ 158,200 ล้านบาทต่อปี) อย่างไรก็ตาม การสร้างคุณค่าสากลของความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกันนั้น ไม่ใช่ประเด็นหลักของการศึกษาดังกล่าว เช่นเดียวกับกรณีภาวะโลกร้อน ความสนใจของการศึกษานี้คือคนยากจน โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาและเขตเศรษฐกิจดาวรุ่งน้องใหม่ (developing and emerging economies) ซึ่งจะเป็นผู้ที่ทุกข์ทรมานที่สุดจากการขาดหายไปของสิ่งที่เรียกว่า “บริการระบบนิเวศน์” (ecosystemic services เช่นป่าชุมชน) การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้จึงเป็นสิ่งจำเป็น หากเราต้องการจะต่อสู้กับความยากจนบนโลกนี้ และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษของสหประชาชาติ
ศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมเฮล์มโฮลทซ์ (UFZ) รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานร่วมด้านวิทยาศาสตร์ในการศึกษานี้ ขณะนี้คณะนักวัจิยที่ UFZ กำลังเตรียมจะประสานเรื่องรายงานต่อไป ซึ่งจะก้าวไปสู่ขั้นตอนถัดไปหลังจากการประชุม COP9 ดร. ไฮดี วิทเมอร์ (Heidi Wittmer) นักวิจัยอาวุโสที่ซึ่งช่วยเตรียมรายงานดังกล่าว พูดถึงความหวังของเธอในโครงการนี้:
“สเติร์นรีวิว (Stern Review - รายงานภาวะโลกร้อนโดย นิโคลาส สเติร์น อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก) ได้เปลี่ยนแปลงวิธีที่เรามองผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พวกเราหวังว่ารายงาน TEEB จะทำอย่างเดียวกันสำหรับความหลากหลายทางชีวภาพ มันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการหยุดยั้งการสูญพันธุ์ของเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องโรแมนติกชวนฝัน แต่จริง ๆ แล้วสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์”
ที่มา : What Is The Value Of Biodiversity To Our Collective Future?, ScienceDaily, 25 พ.ค. 2551 ผ่าน foosci.com
0 ความคิดเห็น